วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น (Flexible Problem Solving)

ในชีวิตประจำวัน เราเผชิญกับปัญหาใหม่อยู่เสมอ  เมื่อเผชิญกับปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน เรามักจะได้พัฒนาขั้นตอนสำหรับแก้ปัญหานั้นขึ้น จนเกิดกระบวนการที่ยืดหยุ่นอย่างเป็นนามธรรมพอที่จะนำไปปรับใช้กับปัญหาอื่น ๆ ได้อีกหลายปัญหา  การทำความเข้าใจว่า ผู้คนสร้างความรู้ที่ยืดหยุ่น เป็นนามธรรม (อยู่ในรูปทั่วไป) ขึ้นมาได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการสร้างความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้  การพัฒนา และการออกแบบสภาพแวดล้อมทางการเรียนเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น (flexibility)
โดยทั่วไป เราเรียนรู้ขั้นตอน วิธีดำเนินการ จากการแก้ปัญหาด้วยตนเอง หรือรับจากการป้อนให้ของผู้อื่น  การเรียนรู้จากการป้อนให้โดยตรงอาจจะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถถ่ายโยงสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับปัญหาใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ขั้นตอน วิธีการ และความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ คือ การอธิบายด้วยตนเอง (self – explaining)  ผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จมักจะพยายามสร้างคำอธิบายในขณะที่ศึกษาตัวอย่างที่มีผลต่อการแก้ปัญหา  คำอธิบายเหล่านี้มีการระบุช่องว่างของความเข้าใจและความเชื่อมโยงกับตัวอย่างก่อน ๆ หรือกับบทเรียนก่อน ๆ ในตำรา   (Chi, Bassok, Lewis, Reimann, & Glaser, 1989)    ผลจากงานวิจัย พบว่า ผู้เรียนตั้งแต่วัย 5 ขวบ ถึงวัยผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นถ้าได้รับการกระตุ้นให้สร้างคำอธิบายของตนเอง  (Aleven & Koedinger, 2002;  Bielaczyc, Pirolli, & Brown, 1995;  Chi, de Leeuw, Chiu, & LaVancher, 1994)
ผู้เรียนแต่ละคนต่างมีความรู้นอกระบบที่สร้างขึ้นเองในชีวิตประจำวันมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้องเสมอไป  เช่นเดียวกับผลจากงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า ความรู้ ความเข้าใจเดิมของนักเรียนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก แม้ว่าจะได้รับการสอนแบบป้อนให้โดยตรงจากการเรียนในระบบแล้วก็ตาม ถ้าความรู้ใหม่ที่ป้อนให้นั้นไม่เข้ากับความรู้เดิมของผู้เรียน คือเกิดช่องว่างระหว่างความเข้าใจ  การกระตุ้นให้ผู้เรียนอธิบายทั้งความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนอกระบบของตน และความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในระบบ  เป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้เรียน และส่งเสริมความสามารถในการถ่ายโยง ทำให้มีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา  และการกระตุ้นให้ผู้เรียนอธิบายความคิดของตนเองยังอาจช่วยให้ผู้เรียนค้นพบและสรุปวิธีดำเนินการที่ถูกต้องได้เองในกรณีที่ยังไม่ได้รับการสอนแบบป้อนให้โดยตรงอีกด้วย  (Siegler, 2002)
การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการยืดหยุ่น ประกอบด้วยการเลือกวิธีการอย่างไม่ยึดติด และการปรับวิธีการให้เข้ากับปัญหา ซึ่งขึ้นอยู่กับปัญหาและจุดมุ่งหมายของการแก้ปัญหานั้น ๆ   Teije และ van Harmelen (1995) ได้วิจัยพบว่า สามารถนำเทคนิคการไตร่ตรอง (Reflection Techniques) มาใช้ในการวินิจฉัยวิธีการแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่นได้

มีตัวอย่างการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์อย่างยืดหยุ่นที่เว็บไซต์วิชาการ.คอม  ในกระทู้ "นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า"   คลิกเข้าดูที่ --> http://www.vcharkarn.com/vcafe/139940


รายการอ้างอิง

Chi, M. T. H., Bassok, M., Lewis, M. W., Reimann, P., & Glaser, R. (1989). Self-explanations: How students study and use examples in learning to solve problems. Cognitive Science, 13(2), 145-182.
 Chi, M. T. H., de Leeuw, N., Chiu, M. H., & LaVancher, C. (1994).  Eliciting self-explanations improves understanding. Cognitive Science, 18(3), 439-477.

Siegler, R. S. (2002). Microgenetic studies of selfexplanation. In N. Garnott & J. Parziale (Eds.), Microdevelopment: A process-oriented perspective for studying development and learning (pp. 31-58). Cambridge: Cambridge University Press.
Teije, Annette ten. and van Harmelen Frank. (1995). Using Reflection Techniques for Flexible Problem Solving (with Examples From Diagnosis).  [Online] Available http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/summary?doi=10.1.1.55.4628 [14  July 2009]

Aleven, V. A. W. M. M., & Koedinger, K. R. (2002). An effective metacognitive strateg : Learning by doing and explaining with a computer-based Cognitive Tutor.    Cognitive Science, 26(2), 147-179.

Bielaczyc, K., Pirolli, P. L., & Brown, A. L. (1995). Training in self-explanation and self-regulation strategies: Investigating the effects of knowledge acquisition activities on problem solving. Cognition and Instruction, 13(2), 221-252.